แก้ “โลกร้อน” แบบ “เอเปก”

ผู้นำประเทศในแถบแปซิฟิกต่างบรรลุข้อตกลงเพื่อยับยั้งภาวะโลกร้อน ด้วย 2 มาตรการสั้นๆ คือ “การปรับปรุงการใช้พลังงาน” และ “เพิ่มพื้นที่ป่า” โดยหวังว่าแผนเหล่านี้จะมีผลต่อปฏิบัติการรับมือกับภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต นับเป็นอีกฉากการต่อรองของผู้นำโลกที่พยายามหาความชอบธรรม หลังปฎิเสธ “พิธีสารเกียวโต”

การประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยเหล่าผู้นำประเทศและดินแดนที่เป็นสมาชิกทั้ง 21 เขตนอกจากจะมีข้อตกลงในด้านเศรษฐกิจตามชื่อของกลุ่มแล้ว ยังมีข้อตกลงเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” อันเป็นประเด็นสำคัญ ที่นำไปสนทนากันในทุกเวที

ผู้นำประเทศในกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ “เอเปก” มีฉันทามติร่วมกันที่จะ “ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า” และ “เพิ่มพื้นที่ป่า” โดยถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดกรอบการทำงานระหว่างประเทศ ซึ่งทั้งสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย หวังให้กลายเป็นแม่แบบแก้ปัญหาโลกร้อนต่อไปในอนาคต

การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ภารกิจข้อแรกตามที่ตกลงร่วมกัน มีเป้าหมายว่า ประเทศสมาชิกจะลดการใช้พลังงานลงให้ได้ 25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ภายในปี 2030 (อีก 23 ปีข้างหน้า)

ส่วนภารกิจที่สอง ที่ระบุว่า เพิ่มพื้นที่ป่านั้น ก็ตั้งเป้าเป็นตัวเลขเช่นกันว่า จะเพิ่มพื้นที่ป่าในภูมิภาคให้ได้ 50 ล้านเอเคอร์ (หรือประมาณ 125 ล้านไร่) ให้ได้ภายในปี 2020 (อีก 13 ปี)

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาใจกันอีกว่า ประเทศร่ำรวยควรจะต้อง “จ่ายมากกว่า” ในการช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้น

ทว่า เมื่อได้ยินข้อตกลงที่ซิดนีย์ชุดนี้ นักสิ่งแวดล้อมและผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ต่างส่ายหน้า เพราะเหมือนกับไมได้ทำอะไรเลย (นี่หว่า !!)

ก็ในเมื่อสูตรดังกล่าว เน้นตีความ “ตามความเหมาะสม” ในการใช้พลังงานให้เต็มประสิทธิภาพ ตามแต่กำลังผลิตและความจำเป็นของแต่ละชาติ ท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว

ประเทศที่พัฒนาแล้วย่อมใช้พลังงานมากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศกำลังพัฒนาก็เดินหน้าเร่งกำลังการผลิตอีกเท่าทวีแม้จะมีเป้าเป็นตัวเลขว่า ต้องลดลงการใช้ (ตามความจำเป็น) ให้ได้ 25% (ของจีดีพี) ภายใน 23 ปี (ก็เหอะ)

แต่จีดีพีวันนี้ กับจีดีพีอีก 20 ปีข้างหน้าก็ต้องต่างกันโขอย่างแน่นอนที่สำคัญ ข้อตกลงเหล่านี้ “เป็นสัญญาใจ” ประเทศสมาชิกสามารถดำเนินการได้ตามความสมัครใจ

อีกทั้ง บรรดาสมาชิกที่ลงนามในข้อตกลงนี้ ยังเป็นการรวมตัวของ “ผู้ก่อมลพิษอันดับต้นๆ ของโลก” เอาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ รัสเซีย ญี่ปุ่น และจีน

ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดในพิธีสารเกียวโต ที่สหรัฐฯ และออสเตรเลียไม่ได้เข้าร่วม แต่มีข้อบังคับให้สมาชิกอย่างรัสเซีย และญี่ปุ่น ที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2010 ลง 5.2% เมื่อเทียบกับปี 1990

ส่วนจีนที่แม้จะถูกจำกัดความให้เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ยังไม่ขึ้นแท่นประเทศอุตสาหกรรม แต่กำลังการผลิตก็ก้าวกระโดดไวไม่น้อย จึงทำให้หลายฝ่ายมีแนวคิดอยากให้ระบุในพิธีสารเกียวโตภาค 2 ว่า ประเทศกำลังพัฒนา (อย่างจีน) ก็ควรจะต้องมีเป้าในการลดการปลดปล่อยก๊าซก่อเรือนกระจกให้ได้ 25-40% ภายในปี 2020

เมื่อเห็นวี่แววเช่นนี้ จีนแต่เดิมออกจะชื่นชอบข้อตกลงตามพิธีสารเกียวโตเหมือนๆ กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ก็เกิดอาการลังเล และเมื่อข้อเสนอจาก 2 พี่เบิ้มที่ดูประนีประนอมรอมชอม อีกทั้งไม่ได้กั้นขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

จึงทำให้ประเทศ “ว่าที่ก่อมลพิษมากที่สุดในโลก” อย่างจีน อ้าแขนรับอย่างสมัครใจ พร้อมๆ กับเพื่อนร่วมกลุ่มที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาเสียส่วนใหญ่

”ช่างเป็นแผนการที่ไร้ความทะเยอทะยาน ในทางปฏิบัติแล้ว มาตรการของพวกเขาก็เหมือนกับไม่ได้ทำอะไรเลย” ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงรายหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยแห่งออสเตรเลีย แสดงความเห็น

แต่ทางเอเปกก็มีข้อมูลหนุนมาตรการซิดนีย์ให้มีน้ำหนักมายิ่งขึ้น โดยอ้างอิงจากตัวเลขเมื่อ 3 ปีก่อน ที่ชี้ว่าปริมาณต้นไม้ หากเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย จะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยกาศได้ถึง 11%

แต่ก็ถูกนักสิ่งแวดล้อมโต้กลับว่า การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ต้นไม้ช่วยได้ก็จริง แต่เห็นผลไม่ชัดเจนเท่ากับการจำกัดการปล่อยตัวต้นเหตุไปเลยดีกว่า

กระนั้นก็ตาม ระหว่างการประชุมเอเปก ก็มีประเทศสมาชิกอีกหลายแห่ง ตั้งคำถามและคัดค้านการที่พี่เบิ้มอย่างสหรัฐฯ และออสเตรเลียพยายามผลักดันเรื่องโลกร้อน เข้ามาในเวทีเศรษฐกิจนอกจากเรื่องความไม่เหมาะสมแล้ว ทั้ง 2 ผู้ผลักดันก็หาได้เข้าร่วมแสดงเจตนารมณ์แก้ปัญหาใน “พิธีสารเกียวโต” ไม่

”ถ้าต้องการจะพูดเรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง กรุณาเข้าวงที่พูดถึงสิ่งแวดล้อมที่ตั้งขึ้นไว้มากมาย ที่นี่ (เอเปก) ไม่มีประโยชน์ที่จะพูดถึงพิธีสารเกียวโต นอกเวที” รัฐมนตรีการค้ามาเลเซีย ให้ความเห็นอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ เวทีที่ว่าด้วยภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในระดับโลกนั้น มีมากมายด้วยกัน โดยเฉพาะเวทีใหญ่ๆ อย่างยูเอ็นเอฟซีซี หรือ ที่ประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปีนี้ประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง และจะมีอีก 2 ครั้งก่อนสิ้นปี

ส่วนที่รู้จักกันดีก็ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (ไอพีซีซี) ของสหประชาชาติอีกเช่นกัน ที่รอบปีนี้เผยงานวิจัยโลกร้อนไปแล้ว 3 หน และครั้งสุดท้ายจะมีขึ้นในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อสรุปงานวิจัยทั้งหมด และหาแนวทางสำหรับพิธีสารเกียวโตต่อไป

ที่สำคัญ แนวทางดังกล่าวที่ผลักด้นโดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีจอห์น โฮเวิร์ด แห่งออสเตรเลีย ซึ่งหลังจากได้ฉันทามติจากเพื่อนร่วมกลุ่มเอเปกแล้ว ก็หวังต่อไปว่า จะกลายเป็นฐานในการต่อพิธีสารเกียวโตภาค 2 ที่กำลังจะหมดลงในอีก 5 ปีข้างหน้า

นี่ทำให้หลายฝ่ายยิ่งกังวลเข้าไปกันใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรีนพีซ ถึงกับออกมาเอื้อนเอ่ยว่า ถ้าแผน (ลมๆ นี้) ถูกนำไปใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนจริงๆ ละก็ โลกเราต้องถึงคราวย่ำแย่จริงๆ อย่างแน่นอน

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ใส่ความเห็น